ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ซึ่งมีแต่แพทย์หรือผู้มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้นที่สามารถออกใบนี้ได้ จึงนับว่าเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีอย่างมากของแพทย์ที่สามารถออกใบนี้ได้ ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารที่หลายๆฝ่ายหลายๆองค์การให้การเชื่อถือมาก ใช้เป็นหลักฐานยืนยันในหลายๆกรณีได้ ดังนั้นในการประกอบวิชาชีพแพทย์น้องจึงมักหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องออกใบรับรองแพทย์ให้คนไข้ สำหรับน้องๆที่เพิ่งจบใหม่อาจจะเพิ่งมาได้ออกใบรับรองแพทย์เป็นครั้งแรกของชีวิต อาจจะรู้สึกตื่นเต้นหรือไม่แน่ใจในการเขียนว่าจะเขียนได้ถูกต้องหรือไม่ ไว้พอน้องมีประสบการณ์มากขึ้นจะรู้สึกไม่ลำบากนักในการเขียนใบรับรองแพทย์ ใบรับรองแพทย์โดยทั่วไปที่น้องต้องออกให้มีหลายประเภทคือ
1 ใบรับรองแพทย์ตรวจสุขภาพดี เป็นใบที่มีประชาชนมาขอให้น้องออกให้บ่อยที่สุด เนื่องจากเขาจะต้องใช้ไปเป็นหลักฐานในการสมัครต่างๆ เช่น ทำใบขับขี่ สมัครเข้าเรียน สมัครเข้าสถาบันการศึกษา สมัครบรรจุเป็นข้าราชการ สมัครเข้าทำงานใหม่ สมัครเข้าชมรม สมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลาบวช ต่ออายุงาน ฯลฯ เนื้อความในใบรับรองแพทย์คือให้คำรับรองว่าบุคคลมีสุขภาพที่แข็งแรงดี ปราศจากโรคร้ายแรงใดๆ ข้อความในใบรับรองแพทย์ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาคล้ายๆกัน คือจะระบุว่า ข้าพเจ้า นายแพทย์/แพทย์หญิง ชื่อ……นามสกุล ……ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเลขที่…..ทำงานอยู่ที่ไหน ได้ทำการตรวจบุคคลชื่อ…….นามสกุล…..ที่อยู่ และบัตรประชาชน ลงเลขที่ด้วย ได้ตรวจในวันที่ …….. ณ. …… ตรวจแล้วพบว่าบุคคลดังกล่าวมีสุขภาพกายและจิตสมบูรณ์ไม่มีผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบหน้าที่ได้ และปราศจากอาการและอาการแสดงของโรคต่อไปนี้ คือ
- โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม
- วัณโรคในระยะอันตราย
- โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจของสังคม
- โรคติดยาเสพติดให้โทษ
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
และสุดท้ายจะมีช่องว่างเว้นไว้ให้เติมคือ สรุปความเห็นแพทย์ และลงชื่อแพทย์ผู้ตรวจ และลงชื่อผู้รับการตรวจจะเห็นว่าใบรับรองแพทย์แบบนี้มักจะมีมาตราฐานเดียวกัน เพราะเป็นแบบฟอร์มที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา การที่ระบุโรคดังกล่าว5โรคไว้ ว่าแพทย์ต้องรับรองว่าไม่ได้เป็นเนื่องจาก เป็นโรคที่ถูกระบุไว้ว่าเป็นข้อห้ามในการเข้ารับราชการ
2 ใบรับรองแพทย์ตรวจโรค เป็นใบรับรองแพทย์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะมีแบบฟอร์มแล้วแต่แต่ละโรคพยาบาล ซึ่งจะไม่ใช้เหมือนกับแบบฟอร์มแรก โดยทั่วไปจะเหมือนกับแบบแรก คือ ชื่อแพทย์ผู้ตรวจ เลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม สถานที่ตรวจ ตรวจบุคคลชื่ออะไร วันที่ตรวจ ตรวจแล้วพบว่า(วินิจฉัยโรค) และความเห็นของแพทย์ และลงชื่อแพทย์ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะขอใบรับรองแพทย์ชนิดนี้ไปลางาน ลาโรงเรียน ไปให้นายจ้างดู ฯลฯ ใบรับรองแพทย์ประเภทนี้หมอมักจะต้องระบุว่า สมควรพักรักษาตัวกี่วัน
3 ใบรับรองแพทย์ซึ่งใช้แบบฟอร์มของบริษัทประกัน ผู้เอาประกันมักจะนำใบรับรองแพทย์มาให้หมอเขียนใน 2 กรณีใหญ่ๆ คือ ในกรณีที่สมัครทำประกันใหม่ และใบกรณีที่จะเรียกร้องค่าสินไหมจากบริษัทประกัน (หรือกรณีที่เกิดจากเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุนั่นเอง) โดยทั่วไปใบรับรองแพทย์จากบริษัทประกันจะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และไม่เหมือนกันในแต่ละบริษัท บางบริษัทใบ Claim ประกัน เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ยังแยกเป็นในกรณีเป็น OPD case ในกรณีเป็นผู้ป่วยใน และในกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุอีก น้องต้องอ่านและทำความเข้าใจดีๆในเนื้อหาก่อนจะเขียนลงไป
4 ใบรับรองความพิการ จะมีแบบฟอร์มมาตราฐานเลยเขียนว่าเอกสารรับรองความพิการ โดยทั่วไปคนพิการหรือญาติจะมาขอให้หมอออกใบรับรองแพทย์ให้ เนื่องจากเพื่อไปขึ้นทะเบียนคนพิการ อาจจะได้รับเงินช่วยหรือสวัสดิการต่างๆจากรัฐ ใบรับรองแพทย์ชนิดนี้มีเนื้อหาและรายละเอียดค่อนข้างมาก ในใบแรกๆที่น้องเขียนขอให้ทำความเข้าใจอย่างดี โดยปกติแล้วที่โรงพยาบาลจะมีคู่มือการออกใบรับรองความพิการให้ น้องคงต้องไปศึกษาอ่านดู เพราะในนั้นจะระบุเลยว่า พิการหมายถึงอะไร แบบไหนที่เรียกว่าพิการ แบบไหนที่เรียกว่าไม่พิการ และพิการระดับใด มีความสามารถอยู่ระดับใด ซึ่งน้องต้องใช้คู่มือนั้นในการออก เพราะจะมีกำหนดมาชัดเลยว่า พิการระดับ 1 คืออะไร ระดับ 2,3,4,5 คืออะไร และระดับความสามารถระดับ 1-5 แบ่งอย่างไร น้องมีหน้าที่ตรวจและแยกแยะให้ได้ว่าคนไข้นั้นเป็นคนพิการตามกฎหมายหรือไม่ เพราะจะมีหลักเกณฑ์ระบุแน่ชัดเลย ที่ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือคนตาบอด 1 ข้าง ไม่ถือว่าเป็นคนพิการตามกฎหมาย แต่ชาวบ้านมักไม่เข้าใจ บอกว่าก็เห็นอยู่เห็นๆนี่หมอว่ามันตาบอดจะไม่พิการได้อย่างไร เราก็ต้องอธิบายดีๆว่าตามกฎหมายแล้วตาบอดเพียงข้างเดียวไม่ถือว่าพิการ นอกจากนี้การตรวจความพิการบางอย่างไม่สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลชุมชน เช่นการตรวจสายตา (เพราะต้องวัด Visual field) การตรวจการได้ยิน (เพราะต้องใช้ audiometry) การตรวจสติปัญญา (เพราะต้องใช้แบบทดสอบ IQ ต้องวัดออกมาเป็นตัวเลขเลย) ส่วนใหญ่ที่หมอที่รพช.จะออกได้คือ ความพิการทางกาย และความพิการอื่นๆที่เห็นและตรวจได้ชัด อย่าลืมนะครับว่าการออกใบรับรองความพิการต้องทำด้วยความรอบคอบ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์กำหนด น้องต้องศึกษาหลักเกณฑ์ต่างๆให้รอบคอบก่อนที่จะออกให้
ขอสอบถามนะคะ …
สวัสดีค่ะคุณหมอ ถ้ากรณี ผู้ป่วยได้เข้าตรวจจริง มีการวินิจฉัยโรคแล้วเรียบร้อย เราต้องการขอให้คุณหมอออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังให้ ณ วันที่คุณหมอแจ้งผลการตรวจให้ผู้ป่วย เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้นำไปเรียกร้องค่าสินไหมกับบริษัทประกัน สามารถทำได้ไหมคะ …
ในกรณีนี้ไม่น่ามีปัญหาครับ คุณ Shanidapha สามารถเรียนคุณหมอที่ตรวจได้โดยตรง เพราะมาตรวจจริงอยู่แล้ว
ขอบคุณค่ะ …คุณหมอที่ตอบคำถาม
แต่เรื่องราวเป็นแบบนี้นะคะ คุณพ่อได้ไปขอแล้วปรากฏว่า หมอไม่ยอมออกให้ โดยให้เหตุผลว่า คุณพ่อไม่ได้มารักษาอย่างต่อเนื่อง แต่คุณพ่อแค่ต้องการให้ออกเพื่อยืนยันผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตรวจมาก่อนหน้านั้น เพราะในวันตรวจจริงคุณหมอไม่ได้ออกให้ และคุณพ่อเองก็ไม่ทราบว่าต้องใช้เป็นหลักฐานในการเคลมประกัน เพราะในการส่งเคลมนั้น ได้ส่งทั้งประวัติการรักษาและใบแสดงผลการตรวจชั้นเนื้อ ชัดเจนแล้วน่ะค่ะ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร คุณหมอช่วยแนะนำด้วยนะคะ (อยู่ขอนแก่นค่ะ)
คุณหมอคะ … ช่วยตอบด้วยนะคะ
จะทำอย่างไรดี …เนื่องจากไม่ได้อยู่ในวงการและหนูก็ไม่รู้ใครด้วย …