เรื่องกฎหมายใหม่กับการชันสูตรพลิกศพ เป็นเรื่องที่พูดกันมากในระยะหลังๆ เนื่องจากในสมัยก่อน ปกติแล้วถ้ามีคนตายผิดธรรมชาติ ไม่ว่าในกรณีใดๆก็ตาม ตำรวจจะเป็นผู้นำส่งศพมาให้แพทย์ตรวจที่โรงพยาบาลเอง แต่ในกฎหมายใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ มิย.43 นี่เอง เป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งหลักการคือ จะพิทักษ์สิทธิของประชาชนให้มากขึ้น มีการคานอำนาจของพนักงานสอบสวน โดยจะมีการบังคับให้แพทย์ต้องไปชันสูตรณ.ที่เกิดเหตุ ซึ่งจะทำให้แพทย์มีความลำบากขึ้นมาก โดยเฉพาะแพทย์ในโรงพยาบาลเล็กๆ
กฎหมายใหม่ระบุให้แพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวชวิทยา เป็นแพทย์ลำดับแรกที่จะต้องออกไปชันสูตร และถ้าไม่มีแพทย์นิติเวช ให้แพทย์โรงพยาบาลรัฐในท้องที่นั้นๆออกไปทำหน้าที่แทน และถ้าไม่มีอีก ลำดับถัดไปคือแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ในท้องที่ของน้องจะไม่มีแพทย์นิติเวชอยู่แล้ว ดังนั้นแพทย์ที่ต้องไปชันสูตรก็คือพวกแพทย์ที่อยู่ตามโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งหมายความรวมถึงโรงพยาบาลชุมชนที่น้องๆทำงานอยู่ด้วยนะ ดังนั้นเมื่อมีคดีเกิดขึ้น หรือมีการพบคนตายเกิดขึ้น ทางตำรวจมักจะแจ้งมาที่โรงพยาบาล ซึ่งถ้าเป็นนอกเวลาราชการ แพทย์เวรจะเป็นผู้รับผิดชอบงานทุกอย่างอยู่แล้ว ถ้าเกิดมีการแจ้งมาจริงและบังเอิญน้องเป็นเวรพอดี ก็ถือว่าโชคไม่ดีไป ตำรวจมักจะอ้างกฎหมายใหม่และเร่งรัดให้หมอออกไปตรวจด้วย แต่การไปกับตำรวจในที่เกิดเหตุ น้องต้องทิ้งงานที่โรงพยาบาลไป ไปนานเท่าไรก็ไม่รู้ ถ้ามีคนไข้ฉุกเฉินมาโรงพยาบาลล่ะ ใครจะรับผิดชอบ หลายๆประเด็นเหล่านี้เป็นความยากลำบากของหมอในรพช.มาก นอกจากนี้เรื่องความปลอดภัยของหมอล่ะ ใครจะรับผิดชอบได้ ยิ่งถ้าเป็นหมอผู้หญิงด้วยแล้ว ไปแต่กับตำรวจที่มีแต่ผู้ชาย ก็คงลำบากใจไม่น้อย และในที่เกิดเหตุก็ไม่แน่ว่าจะมีอันตรายอะไรหรือเปล่า เช่นเป็นคดีฆ่ากันตายหลายศพ หมอต้องเข้าไปเสี่ยงไปดูศพเองหรือ ไม่รู้จะมีใครซุ่มอยู่หรือเปล่า เป็นฝ่ายไหนก็ไม่รู้
ทางแพทย์กลุ่มหนึ่งจึงมีการรวมตัวกันร้องเรียนไปยังแพทยสภาและระดับกระทรวง ขอให้ชะลอการบังคับใช้ไปก่อน และแก้ไขให้เหมาะสมในสภาพการณ์จริง ซึ่งผลการร้องเรียนยังไม่ทราบ คงต้องติดตามต่อไป พี่เห็นด้วยนะว่ามันต้องแก้กฎหมาย ออกกฏมาแบบนี้สร้างความลำบากให้แพทย์มาก หมอบางคนต่อต้านโจมตีกฎหมายนี้มาก ว่าไปถึงหมอในกระทรวงหรือในแพทยสภาที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงของหมอต่างจังหวัด ที่ต้องดูแลคนไข้ทั้งอำเภอ และถ้าถูกตามตอนดึกๆล่ะ ไปไกลแค่ไหนก็ไม่รู้ ต้องขึ้นเขาลงห้วยเดินเท้าไปหรือเปล่า และถ้ามีคนไข้ฉุกเฉินมาตอนหมอไม่อยู่ล่ะ หมอซึ่งออกไปชันสูตรก็ถูกร้องเรียนเผลอๆจะถูกแจ้งความในข้อหาละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตก็ได้ มีโทษถึงติดคุกเชียวนะ และใครจะรับประกันความปลอดภัยให้หมอได้ อีกอย่างหนึ่งที่เป็นประเด็นถูกต่อต้านมาก เนื่องจาก การให้หมอไปดูที่เกิดเหตุ ก็ใช่ว่าหมอจะสามารถลงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีได้ เนื่องจากหมอไม่ได้ฝึกให้ไปตรวจที่เกิดเห็น และไม่มีหน้าที่ไปลงบันทึกร่องรอยอื่นๆด้วย เช่น ไม่ต้องลงว่ามีคราบเลือดตรงไหน มีของแปลกปลอมตรงไหน ที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจ หมอเองก็ใช่ว่าจะมีความรู้ทางนิติเวชมาก ในการเรียนแพทย์เราก็ได้รับการสอนน้อยอยู่แล้ว การแก้ไขปัญหานี้พี่ว่าน่าจะชะลอการใช้กฎหมายไปก่อน หรือแก้ไขกฎหมายให้แพทย์ตามรพช.สามารถปฏิบัติได้จริง
แนวทางการแก้ไขเฉพาะหน้า ในเมื่อยังแก้ไขกฎหมายไม่ได้ และทางผู้ใหญ่ของเรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน หลายๆโรงพยาบาลจึงต้องดิ้นรนหาหนทางกันเอง จริงๆถ้าน้องอ่านดูตัวกฎหมายอย่างละเอียด น้องจะพบว่า ไม่มีตรงไหนที่เขียนว่าแพทย์ต้องออกไปชันสูตรในที่เกิดเหตุ แต่เขียนไว้ว่า ห้ามเคลื่อนย้ายศพจนกว่าจะมีการชันสูตรเสร็จสิ้น และเขียนไว้อีกประเด็นหนึ่งว่าแพทย์ต้องทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ ดังนั้น ก็เป็นการบังคับไปกลายๆว่าหมอต้องไปชันสูตรในที่เกิดเหตุนะ แต่กฏหมายมีข้อยกเว้นให้สามารถเคลื่อนย้ายศพได้ใน 2 กรณีคือ เคลื่อนย้ายได้เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ตรงข้อยกเว้นนี้ทำให้แพทย์บางโรงพยาบาลอ้างเพื่อให้ตำรวจเอาศพมาโรงพยาบาล โดยอาจอ้างว่าหมอต้องอยู่เวรดูแลคนไข้ ดังนั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่สามารถไปตรวจศพได้ หรือในกรณีศพอุบัติเหตุ อาจจะอ้างว่า ศพอยู่กลางถนน ถ้าทิ้งไว้ อาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกได้ จึงต้องเคลื่อนย้ายเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือหมอบางโรงพยาบาลอาจจะอ้างว่าอยู่เวรคนเดียวออกไปไม่ได้ ให้ไปตามหมอลำดับต่อไป คือหมอประจำสสจ.ไปตรวจแทน ทั้งนี้และทั้งนั้น พี่ว่าถ้ามีการคุยกันอย่างเปิดอกระหว่างหมอกับตำรวจในท้องที่นั้นๆจะเป็นการดีมาก โดยถ้าเป็นในระดับผู้ใหญ่จะยิ่งดี เช่นเป็นในระดับจังหวัด ได้ข่าวว่าบางจังหวัดมีการคุยกันในระดับผู้ว่า สสจ. และผู้บังคับการตำรวจประจำจังหวัดเลย โดยตัวแทนแพทย์คงต้องบอกเหตุผลและความจำเป็นของหมอว่าบางครั้งไม่สามารถชันสูตรนอกสถานที่ได้เพราะอะไร ถ้าคุยกันได้เข้าใจก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าในระดับจังหวัดไม่มีการคุยกัน บางครั้งในระดับอำเภอก็มีการคุยกัน โดยอาจเป็นผอ.ไปคุยกับผู้กำกับ ช้แจงเหตุผลให้ทราบ และอาจให้ตำรวจเอาศพมาตรวจเป็นบางกรณี แต่ในบางรายถ้าตายในเวลาราชการ และไม่ไกลจากโรงพยาบาลมากนัก รูปคดีซับซ้อน และมีหมอหลายคนอาจจะมีการไปชันสูตรนอกสถานที่ได้ แต่ถ้านอกเวลา มีหมอคนเดียว หรือไกลมาก ไม่ปลอดภัย อาจต้องขอร้องให้ตำรวจนำศพมาโรงพยาบาล เหล่านี้เป็นทางออกทางหนึ่งที่พอจะช่วยได้ อย่างที่เขาว่าบางครั้งใช้หลักนิติศาสตร์หรือยึดตัวกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้หรอก ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ด้วย ว่าทำได้ไม่ได้ในทางปฏิบัติอย่างๆไร
และถ้าน้องจำเป็นต้องไปชันสูตรนอกสถานที่ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็แล้วแต่ มีข้อแนะนำบางอย่าง คือข้อแรกน้องต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก ต้องมีพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปกับน้องด้วยอีกอย่างน้อยหนึ่งคน ไม่ควรไปกับตำรวจเพียงลำพัง โดยเฉพาะน้องผู้หญิง ข้อต่อมาคือควรจะให้แน่ใจก่อนว่าสถานที่พบศพอยู่ที่ไหน การเดินทางไปลำบากแค่ไหน เพราะบางกรณี เช่นคนตายในป่า มีชาวบ้านแจ้งมา ตำรวจยังไม่ได้ไปเลยนะ ตำรวจก็มาตามหมอที่รพ.ก่อนให้ไปด้วยกัน บางครั้งแต่จริงๆแล้วพบบ่อยนะเลยล่ะ คือตำรวจมักจะหลงหาสถานที่เกิดเหตุไม่เจอ โดยเฉพาะถ้าเป็นป่า ต้องเดินเข้าไปนาน โอกาสหลงมีเยอะมาก และถ้าไปตอนเย็นๆละ น้องอาจจะติงร่างแหหลงป่า ต้องนอนในป่าก็ได้ ดังนั้นควรได้รับคำยืนยันก่อนว่า พบศพที่ไหน ตำรวจไปถึงหรือยัง เดินทางเข้าไปอย่างไร ส่วนใหญ่พี่มักจะขอให้ตำรวจไปก่อน พอพบศพแล้ว ให้ว.มาที่รพ. แล้วพี่ค่อยออกไปชันสูตรโดยนั่งรถรพ.ไป
อีกอย่างหนึ่งคือ พยายามสังเกตุรายละเอียด สภาพแวดล้อมที่เกิดเหตุ ลองคุยกับตำรวจถึงรูปคดี แต่อย่าลืมนะว่าหมอไม่มีหน้าที่บันทึกที่เกิดเหตุ เราบันทึกสภาพศพและผลการชันสูตรก็พอ ถ้าไม่สามารถลงความเห็นอะไรได้ ก็บอกตำรวจตรงๆ อาจจะต้องนำศพกลับมาผ่า มา X ray หรือส่งไปยังสถาบันนิติเวชเลย ถ้ารูปคดีมีปัญหา
เรื่องค่าตอบแทน ขณะนี้มีระเบียบออกมาแล้ว ว่าหมอสามารถได้ค่าตอบแทน โดยจะได้ 800 บาทต่อการตรวจศพนอกโรงพยาบาล 1 ครั้ง และได้ 500 บาท ต่อการตรวจศพในโรงพยาบาล และถ้ามีการผ่าศพหรือถ้าเป็นแพทย์นิติเวชตรวจ จะได้รับเงินมากขึ้น
เป็นอย่างไรบ้างครับ เรื่องกฎหมายใหม่ หวังว่าคงได้รับความกระจ่างขึ้นบ้างนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาใจของน้องบางคน บางคนไม่ยอมมารพช.เพราะต้องมาชันสูตร และต้องไปนอกสถานที่ด้วยก็มี ไม่เป็นไรครับขณะนี้เริ่มมีการตอบสนองจากผู้หลักผู้ใหญ่ของพวกเราแล้ว หวังว่าคงได้มีการแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป
** ขอให้ตรวจสอบข้อมูลกฎหมายในปัจจุบัน เนื่องจากมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางส่วนหลังจากปี 2543 ที่ผู้เขียนใด้เขียนบทความนี้ขึ้น
ขอบใจจ้า บทความดีๆขอบคุณมากครับ ใว้จะติดตามข่าวสารเรื่อยๆนะครับ
จริงๆแล้วการชันสูตรพลิกศพมีจุดประสงค์หลายอย่างด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการระบุว่าผู้ตายเป็นใคร ซึ่งเดี๋ยวนี้ทันตแพทย์มีบทบาทมากขึ้นในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลตามหลักสากล(ลายนิ้วมือ ประวัติฟันและDNA) แต่ทันตแพทย์ไม่เคยได้ค่าตอบแทนในการระบุว่าผู้ตายเป็นใครเลย ไม่ยุติธรรมเลย