แพ้ยาอย่างรุนแรง ใครผิด และใครต้องรับผิดชอบ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดยาก และเข้าใจยากอีกเรื่องหนึ่ง ทำให้ปัจจุบันมีปัญหาในความไม่เข้าใจกันระหว่างหมอกับคนไข้ในเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้กินยาแล้วเกิดเรื่องขึ้น ก็โทษหมอว่าหมอจ่ายยาผิด จ่ายยาไม่ดีทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ก่อนอื่นคงต้องมาพิจารณากันทีละประเด็นครับ

1 การแพ้ยาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับยาทุกชนิด ซึ่งการแพ้ยาส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงเช่น มีผื่นขึ้น คันตามตัว มีน้อยมากที่จะมีการแพ้อย่างรุนแรง เช่นผิวลอก หรือทำให้ตาอักเสบ ฯลฯ

2 การแพ้ยาสามารถเกิดได้กับทุกคน และโชคร้ายที่เราไม่สามารถทำนายได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราได้ยาใหม่เข้าไปในร่างกาย ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าหรอกครับว่าเราจะแพ้ยาตัวนั้นหรือไม่ ไม่มีวิธีทำนายด้วย ดังนั้นหมอหรือเภสัชกรจะบอกเสมอว่าถ้ามีอาการผิดปกติหรือมีการแพ้ยาให้หยุดยาแล้วรีบมาพบแพทย์

3 การแพ้ยาเกิดขึ้่นได้จากร่างกายของคนคนนั้นทำปฏิกิริยาต่อต้านต่อยา ซึ่งคนอื่นๆโดยทั่วไปไม่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พวกเราทุกคนคงเคยกินยาพาราเซตตามอล ก็กินกันได้มีมีปัญหาอะไร แต่เชื่อไหมครับว่ามีหลายคนที่กินยาพาราไม่ได้ กินแล้ว แพ้ผื่นขึ้นก็มี แปลว่ายาพาราไม่ดีใช่ไหมครับ เราคงพูดอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นเพราะร่างกายของคนๆนั้นมีการตอบสนองต่อยาพาราที่ผิดไปเท่านั้นเอง เมื่อเรารู้แล้ว ก็ต้องรีบหยุดยา และจดไว้เสมอว่าเราแพ้ยาอะไร จะได้จำได้ และหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต

4 หมอจะถามคนไข้เสมอนะครับก่อนสั่งยาว่า คุณเคยแพ้ยาอะไรบ้าง รวมถึงเภสัชกร และหน้าห้องยาส่วนใหญ่ก็มีป้ายติดไว้อยู่แล้วว่า ท่านแพ้ยาอะไรกรุณแจ้งเภสัชกรด้วย ฯลฯ เหล่านี้เป็นวิธีป้องกันไม่ให้คนไข้ได้รับยาที่เคยแพ้ซ้ำเข้าไป ซึ่งถ้ามีการช่วยกันทั้ง 2 ทั้งคนจ่ายยาและคนรับยาก็จะตัดปัญหาตรงนี้ไปได้มาก แต่เชื่อไหมครับว่า เวลาหมอถามว่าเคยแพ้ยาอะไรบ้างไหม ส่วนน้อยมากที่จะบอกว่าเคย พร้อมกับบอกชื่อยา หรือเอาใบที่จดมาให้หมอดู ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นได้จะวิเศษมาก แต่ความเป็นจริงมักไม่เป็นเช่นนั้น คนไข้ส่วนใหญ่จะตอบว่า เคยแพ้ แต่นานมากแล้ว และจำไม่ได้แล้วว่ายาอะไร หรือจำได้แค่ว่าแพ้ยาแก้อะไร ซึ่งก็ยังดี หมอจะพยายามถามต่อเพื่อสันนิษฐานว่ายาที่คนไข้แพ้เป็นยาอะไร และจะได้ไม่จ่ายซ้ำ แต่ในบางรายจำไม่ได้เลย หรือไม่สนใจจะจำด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้หมอลำบากใจมาก

5 การแพ้ยาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราควรมาช่วยกันป้องกัน และสังเกตตัวเองเวลากินยาว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ หรือถ้ารู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไรต้องพยายามจำ และจดไว้เสมอ จะช่วยเราได้ในอนาคต

2 comments to แพ้ยาอย่างรุนแรง ใครผิด และใครต้องรับผิดชอบ

  • พิชา

    ในชีวิต ก็กินยาอยู่แค่ไม่กี่ชนิด พาราฯ, ยาเคลือบกระเพาะ, ยาแก้ปวด, ยาแก้ไอ แล้วหมอมาถามว่า มีประวัติการแพ้ยาไหม?
    เป็นดิฉัน ดิฉันก็ต้องตอบว่าไม่ทราบ ในกรณีนี้ เขาจะมีการเทสยาให้เสี่ยงต่อการแพ้ให้คนไข้หรือเปล่าหล่ะคะ

    เพราะมีคนที่บ้านเจอมากับตัว แพ้ยาโรคเก๊า เสียชีวิตในสัปดาห์ต่อมา โดยที่มันแก้ไข อะไรไม่ทันแล้ว
    ถามว่า การที่จะรอคนไข้รู้ตัวว่าแพ้ยา แล้วค่อยมารักษากันอย่างนี้ เราไม่มีวิธีที่จะป้องกันชีวิตคนไข้ได้ดีกว่านี้แล้วใช่หรือไม่คะ

  • InMyMind

    โดยหลักการดีมากครับ ถ้าเรามีวิธีที่จะทดสอบหรือรู้ล่วงหน้าว่าคนไข้จะแพ้ยาที่หมอกำลังจะให้หรือไม่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถทำได้ครับ ไม่มีการทดสอบใดๆที่จะบอกได้ว่าคนไข้จะแพ้ยานั้นๆหรือไม่ ไม่สามารถเจาะเลือดและทำนายการแพ้ยาล่วงหน้าได้ และในการแพ้อย่างรุนแรงบางชนิด ไม่ขึ้นกับปริมาณของยาที่ได้รับ นั่นคือแม้ว่าจะได้เข้าไปเพียงเล็กน้อย ร่างกายคนไข้อาจมีการแพ้ยาอย่างรุนแรงได้ ดังนั้นการให้ยาขนาดน้อยๆเพื่อทดสอบดูก่อนว่าจะแพ้หรือไม่จึงทำไม่ได้ครับ

    อย่างที่เคยกล่าวล่ะครับว่า ยาทั่วไปที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีความปลอดภัยสูงครับ โอกาสจะแพ้ยามีน้อย และโอกาสที่จะแพ้อย่างรุนแรงมีน้อยมากๆครับ ขอใ้ห้ระลึกว่าเราจะใช้ยาอย่างเข้าใจ ใช้เท่าที่จำเป็น และสังเกตอาการตัวเองว่ามีอาการผิดปกติหลังได้ยาหรือไม่ ถ้ามีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรครับ

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>