หมอกับระเบียบราชการและการลา

  เมื่อน้องเป็นข้าราชการคนหนึ่ง น้องสมควรจะรู้เกี่ยวกับระเบียบของทางราชการไว้บ้างเพราะจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง อย่างที่รู้กันโดยทั่วกันว่า ระบบราชการเป็นระบบที่ใหญ่ ประกอบด้วยคน เอกสาร เครื่องไม้เครื่องมือจำนวนมาก ระเบียบก็ยิ่งยุ่งและยากมีขั้นตอนมาก ไม่คล่องตัวเหมือนพวกเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้องคนไหนได้เป็นถึงผู้บริหารของโรงพยาบาลจะยิ่งเข้าใจ สำหรับน้องที่เป็นแพทย์ประจำ ระเบียบง่ายๆที่ควรรู้ก็คือ ระเบียบการลาของข้าราชการ การได้รับเงินเดือน การลาไปอบรม เป็นต้น พี่จะพูดคร่าวๆให้น้องฟังพอเป็นความรู้สักนิดนะว่า                

ระเบียบการลาของข้าราชการนั้น มีการลาอยู่ทั้งหมด 9 ประเภท ซึ่งแตกต่างกัน โดยน้องสามารถลาได้ตามสิทธิที่น้องมี แต่ต้องเข้าใจไว้ก่อนนะครับว่า การใช้สิทธิการลาไม่ต้องใช้ให้ครบก็ได้ เรามีสิทธิที่จะลาได้ก็จริง แต่ถ้าเราไม่มีความจำเป็นเราก็ไม่ต้องลาให้ครบ ไม่ใช้ว่าน้องขี้เกียจทำงานขึ้นมา ก็ขอลากิจไปเที่ยวซะอย่างนั้น ถือว่าเป็นการไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ข้าราชการจำนวนหนึ่งถือว่าฉันมีสิทธิฉันก็จะใช้สิทธิให้คุ้ม บุคคลประเภทนี้ ไม่ได้ทุ่มเทกายใจให้งานราชการของตัวเองเลย เป็นอย่างที่บุคคลภายนอกชอบว่าว่าข้าราชการมักจะเช้าชามเย็นชาม ทำให้ระบบราชการเสียหาย น่าเสียดายภาษีราษฎรที่ต้องนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนของข้าราชการประเภทนี้จริงๆ น้องก็อย่าลืมนะครับว่า ตัวเองเป็นข้าราชการ เป็นข้าราชการหมายถึงเป็นข้าแผ่นดิน ต้องทำงานสนองคุณแผ่นดิน กินเงินเดือนภาษีราษฎร ควรจะตอบแทนโดยการทำงานในหน่วยงานตัวเองให้เต็มที่และโดยมีประสิทธิภาพที่สุด เอาละเข้าเรื่องกันซะที ย้อนกลับมาพูดเรื่องการลาใหม่ การลาดังที่กล่าวมาแล้ว แยกเป็น 9 ประเภท แต่ที่สำคัญและใช้บ่อยคือดังนี้คือ

  • การลาป่วย สามารถลาได้ปีละไม่เกิน 60 วัน โดยที่ลาติดต่อกันได้ไม่เกินครั้งละ 30 วัน เว้นแต่กรณีจำเป็นจริงๆ  การลาป่วยโดยทั่วไปแล้วจะต้องส่งใบลาก่อนวันที่ลาป่วยหรือในวันที่ลาป่วย เว้นแต่กรณีจำเป็นสามารถส่งในวันแรกที่มาทำงานก็ได้ และส่วนใหญ่จะต้องแนบใบรับรองแพทย์ด้วย แม้ว่าน้องจะเป็นหมอแต่ห้ามเขียนใบรับรองแพทย์ให้ตัวเองนะ ต้องให้หมอคนอื่นเขียนให้
  • การลากิจส่วนตัว ต้องส่งใบลาล่วงหน้า และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วถึงสามารถลาได้ สามารถลาได้ปีละไม่เกิน 45 วันทำการ
  • การลาคลอดบุตร สามารถลาได้ 60 วันโดยที่ยังได้รับเงินเดือน แต่สามารถลากิจต่อโดยได้รับเงินเดือนอีก 30 วัน และถ้าต้องการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร สามารถลาต่อได้อีก 150 วันโดยที่ไม่ได้รับเงินเดือน
  • การลาพักผ่อน สามารถลาได้ปีละไม่เกิน 10 วันทำการ โดยจะลาครั้งเดียวหรือลาหลายครั้งก็ได้ และมีสิทธิสะสมวันลาได้ถ้าใช้ไม่ครบ 10 วัน โดยสะสมไปในปีต่อๆไปได้ แต่ไม่เกิน 20 วันทำการ ยกเว้นว่าทำงานมานานกว่า 10 ปี สามารถสะสมวันลาได้ไม่เกิน 30 วันทำการ  แต่ในปีแรกที่บรรจุ น้องยังไม่มีสิทธิพักผ่อน แต่สามารถนำสิทธิ 10 วัน ไปรวมกับปีต่อไปได้

นอกจากการลา 4 ประเภทข้างต้นแล้ว ยังมีการลาเพื่อไปอุปสมบท การลาไปประกอบพิธีฮัจย์ การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือการเตรียมพล การลาไปศึกษา อบรม ดูงานในและต่างประเทศ การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ และการลาติดตามคู่สมรส ซึ่งรายละเอียดสามารถหาอ่านได้จากหนังสือระเบียบข้าราชการทั่วไป

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>