หนีไม่พ้น คนไข้คดี

 ในโรงพยาบาลชุมชน น้องมีโอกาสที่จะต้องเจอกับคนไข้คดีบ่อยมาก บ่อยกว่าการอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เนื่องจากว่าน้องต้องรับผิดชอบดูแลงานห้องฉุกเฉิน และเวรนอกเวลาราชการด้วย ดังนั้นน้องจึงต้องมีโอกาสตรวจและออกใบชันสูตรในคนไข้คดีเสมอ พี่คงไม่กล่าวในรายละเอียดเกี่ยวกับคนไข้คดีให้ฟัง เพราะเชื่อว่าน้องๆได้เรียนในวิชานิติเวชมาแล้ว แต่ขอเน้นย้ำให้ฟังในจุดเล็กๆน้อยๆแต่ก็เป็น Practical point ให้ฟังนะ

อย่างแรกที่สำคัญคือ คนไข้คดีทุกcase น้องต้องเป็นคนตรวจเอง และลงบันทึกบาดแผลเอง เพื่อที่น้องจะได้ออกใบชันสูตรบาดแผลให้ แม้ว่าคนไข้จะไม่มีแผลอะไรมากก็ตาม โดยทั่วไปในโรงพยาบาลเล็กๆ พยาบาลมักจะตรวจคนไข้ง่ายๆให้นอกเวลาราชการ และลงบาดแผลคร่าวๆ และสั่งยาให้กลับบ้านได้เลย แต่ถ้าเป็นคนไข้คดี แล้วพยาบาลมักจะตามแพทย์มาดูแผล หรืออาจจะนัดคนไข้มาใหม่ให้หมอตรวจ ถ้าคนไข้มาดึกมากนอกเวลาราชการ อย่างที่บอกไปแล้วนะว่า น้องต้องมาตรวจเอง ไม่ควรให้พยาบาลตรวจให้ น้องต้องลงมาดูแผลเอง แม้ว่าบางครั้งจะรู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญมากก็ตาม

พี่ก็เคยเจอบางทีเรื่องไม่เป็นเรื่อง มีชาย 2 คนกินเหล้าและทะเลาะกัน ชกต่อย ไม่มีแผลอะไรมาก มีแต่รอยฟกช้ำ ชกกันซักประมาณตี 1 ตอนประมาณตีหนึ่งครึ่งคนเแรกก็มารพ. พยาบาลก็ตามหมอลงไปดูแผล ก็ไม่มีอะไรมาก ดูเสร็จก็กลับไปนอนต่อ พอตี 2 ก็มาอีกคนหนึ่ง เราเองก็ง่วงนอนรู้สึกหงุดหงิด มันเรื่องอะไรของเรานะต้องมานั่งดูแผล เรื่องไม่เป็นเรื่องของคน 2 ที่ทะเลาะกัน และไม่รู้จักมาพร้อมๆกันด้วย ช่างน่าเบื่อเหลือเกิน ก็ได้แต่บ่นในใจ แต่ก็คงต้องลงมาดูเองอยู่ดี หรือหมอบางคนอาจจะไม่ยอมลงมาดูเลยก็ได้ ให้พยาบาลนัดให้คนไข้มาใหม่ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นสิทธิของหมอเหมือนกัน เนื่องจากหมอไม่จำเป็นต้องตรวจคนไข้ไม่มีปัญหาอะไร พยาบาลตรวจแทนได้  คนไข้คดีก็จริงแต่ถ้ายังไม่ได้ไปแจ้งความหรือยังไม่ได้ไปเอาส่งตัวจากตำรวจมาให้หมอตรวจ หมอก็ยังไม่ต้องไปตรวจ หมอบางคนอาจจะไล่คนไข้ให้ไปขอใบจากตำรวจก่อนก็ได้ แล้วค่อยมาใหม่ แต่อย่าลืมนะครับเวลาขึ้นศาลเราต้องไปขึ้นเอง และให้การไปตามจริงว่าได้เห็นแผลเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ได้ดูเองเวลาไปขึ้นศาลจะลำบากมาก

การเขียนใบชันสูตรมีหลักการง่ายๆคล้ายกับการเขียนใบรับรองแพทย์ คือเขียนในสิ่งที่เป็นจริง เขียนในสิ่งที่เห็น สันนิษฐานได้พอสมควร ไม่ควรเขียนในสิ่งที่เราไม่แน่ใจ ต้องลงรายละเอียดที่จำเป็นให้ครบ โดยเฉพาะเรื่องที่มักจะลืมคือคนไข้มีกลิ่นสุราหรือไม่ ลงแผลแล้ว มักจะต้องลงความเห็นว่าเกิดจากอะไรและใช้เวลารักษากี่วันหาย แผลโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Lacerated wound, Fracture, Contusion มักเกิดจากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก แต่ถ้าเป็น cut wound เกิดจากการถูกของมีคมบาด เราเขียนได้เท่านี้ ไม่ต้องไปเขียนว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น ห้ามเขียนว่าเกิดจากถูกตีด้วยไม้ หรือถูกมีดแทง ฯลฯ ตามคำเขาบอก เพราะจริงๆเราไม่รู้หรอกว่าแผลเกิดจากอะไรแน่ ที่เขาบอกว่าถูกทุบ ถูกตี ถูกแทง ก็เป็นแค่ประวัติ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้

และนอกจากนั้นเรามักจะต้องลงความเห็นว่าใช้เวลารักษากี่วันหาย น้องก็ใช้หลักนิติเวชที่เรียนมา เช่นแผลถลอกธรรมดา ก็ใช้เวลาสัก 3วันหาย แผลฟกช้ำก็สัก 5-7วัน  แผลที่ต้องเย็บก็ประมาณ 7 วัน กล้ามเนื้อและเอ็นก็ซัก 3 อาทิตย์กระดูกหักก็ประมาณ 1-2 เดือน การเขียนเวลารักษาควรจะไม่ผูกมัดตัวเอง เช่นใช้คำว่าใช้เวลารักษาประมาณ ….. วัน อย่าลืมใช้คำว่าประมาณเข้าช่วย อีกอย่างต้องเขียนลงท้ายเสมอว่า ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน เพราะการคะเนการหายเป็นการหายโดยธรรมชาติ แต่ถ้ามี complication อาจจะหายช้ากว่านั้นก็ได้ ดังนั้นเราต้องเขียนเสมอแบบนี้ว่า ใช้เวลารักษาประมาณ….วันหาย ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ

ในการออกใบชันสูตรบาดแผล เราไม่จำเป็นต้องรีบเขียนในทันทีที่ตำรวจเอามาให้เราก็ได้ ใจเย็นๆ โดยเฉพาะในคนไข้ที่น้องจำเป็นต้อง Observe อาการ อาจจะรอให้ discharge ก่อนก็ได้ เช่นคนไข้ cerebral concussion น้องอาจจะให้ observe neurosign น้องก็รอจนคนไข้ discharge ก่อนก็ได้ แล้วค่อยเขียน ถึงอย่างนั้นก็อย่าลืมใช้คำว่า ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนนะ อีกอย่างถ้าเราไม่แน่ใจก็เขียนเลี่ยงๆก็ได้ อย่าผูกมัดตัวเอง เช่น X ray แล้วไม่เห็นรอยหัก ก็อย่าเขียนว่ากระดูกไม่หัก ควรเขียนว่าไม่เห็นรอยหัก หรือถ้าไม่แน่ใจว่ามี fracture line หรือไม่ก็อาจจะใช้คำว่า ไม่เห็นความผิดปกติที่ชัดเจนในการเอ๊กซเรย์ ก็ได้ ใช้คำพูดเลี่ยงๆให้เป็นประโยชน์นะ

 

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>